Oklahoma Contemporary Arts Center

อาคารศิลปะ ที่จับจังหวะแสงก่อนสื่อสารเป็นงาน Façade

“อาคารใหม่นี้เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับแสงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในโอคลาโฮมา”

คำพูดดังกล่าวจากทีมบริษัทออกแบบ Rand Elliott Architects ในสหรัฐฯ คงบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงความพิเศษของบ้านหลังใหม่ของศูนย์ศิลปะร่วมสมัยแห่งโอคลาโฮมาที่ประกอบขึ้นจากแผ่นอลูมิเนียมอัดขึ้นรูปกว่า 16,800 ชิ้นจนไม่ต่างจากดาวฤกษ์ดวงใหม่ของเมือง

ทีมสถาปนิก รับหน้าที่ในการออกแบบอาคารหลังใหม่ขนาด 5,009 ตารางเมตรแทนที่อาคารหลังเดิมบริเวณพื้นที่จัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการหลักของเมือง ซึ่งอยู่บริเวณทิศเหนือของย่าน Automobile Alley ย่านเก่าแก่สุดฮิปที่เต็มไปด้วยร้านตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ตั้งแต่ปี 1920

โดยอาคารหลังนี้ มุ่งเน้นด้านนิทรรศการศิลปะ การเรียนรู้ และศิลปะการแสดงพร้อมขยายสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ อย่างครบครัน จุดเด่นที่สำคัญคือ ส่วนโครงสร้าง Façade ภายนอกที่ประกอบขึ้นจากแผ่นโลหะอัดขึ้นรูปจำนวนนับพันๆ ชิ้นซึ่งมีขนาดความสูงและองศาของมุมที่แตกต่างกัน วัสดุหลักจึงหนีไม่พ้นอลูมิเนียมที่ผ่านกระบวนการชุบผิวให้มีความเงา สว่าง เพื่อเพิ่มให้เกิดการสะท้อนแสง โครงสร้างอาคารส่วนใหญ่เป็นกำแพงผนังทึบ เจาะช่องหน้าต่าง ส่วนช่องว่างระหว่างตัวอาคารเสริมด้วยครีบทรงสามเหลี่ยม ติดตั้งแผ่นบานเกล็ดและระบบไฟซึ่งจะส่องสว่างช่วงกลางคืนจึงถูกตั้งชื่อว่า โคมไฟ (The Lantern)

โครงสร้างภายในอาคารออกแบบให้โล่ง ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินสีขาวและพื้นปูด้วยกระเบื้องสีเทาขนาดใหญ่ บันไดเชื่อมทั้ง 4 ชั้นกรุด้วยวัสดุโปร่งใสเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบภายนอกอาคาร ด้านฟังก์ชั่นการใช้งาน ชั้นล่างออกแบบให้เป็น ส่วนล็อบบี้ คาเฟ่และร้านค้า ชั้นหนึ่งเป็นห้องสมุดเฉพาะด้านศิลปะที่รวบรวมหนังสือกว่า 500 เล่ม ชั้นสองออกแบบให้เป็นระเบียงกลางแจ้งสามารถใช้จัดกิจกรรมต่างๆ รองรับผู้ใช้งานได้กว่า 250 คน

จุดประสงค์หลักอย่างหนึ่งของการก่อสร้างอาคารนี้ คือการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานอาคารสาธารณะ โดยอาคารหลังดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ด้านศิลปะและการเรียนรู้ขนาด 4.6 เอเคอร์ (1.86 เฮกตาร์) ซึ่งหมายรวมถึงโกดังสินค้าที่พัฒนาเป็นสตูดิโอสำหรับงานเซรามิกโลหะและงานไม้ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สวนสำหรับงานประติมากรรม นิทรรศการกลางแจ้ง โปรแกรมการเรียนรู้ที่น่าสนใจที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะและกระตุ้นให้ผู้คนเข้าถึงเรื่องศิลปะได้มากขึ้น