23 Nov 2020
เมื่ออาคารไม่ได้มีข้อจำกัดเพียงรูปทรงสี่เหลี่ยม พื้นผิวและกรอบของอาคารยุคใหม่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงความสวย โปร่งแต่ยังหมายรวมถึงเรื่องโครงสร้างรองรับน้ำหนัก และอาคารระฟ้ามาพร้อมการตอบคำถามเรื่องราวของผู้คน ความเท่าเทียม เศรษฐกิจและการเป็นอยู่ของชุมชน
ท่ามกลางโลกยุคใหม่ 5 อาคารเหล่านี้กำลังทลายโจทย์ด้วยความเข้าใจและถ่ายทอดอย่างน่าสนใจ
The Opus โดย Zaha Hadid
สถานที่ ดูไบ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ด้วยโจทย์ของการเป็นมหานครแห่งอนาคต จึงไม่น่าแปลกใจว่ากว่าสองทศวรรษที่ผ่านดูไบจะมีตึกระฟ้าหน้าตาล้ำสมัยจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ The Opus อาคารเพียงหนึ่งเดียวในดูไบที่ได้รับการออกแบบทั้งภายนอกและภายในโดย Zaha Hadid ภายใต้พื้นที่ใช้สอยกว่า 84,345 ตารางเมตร ประกอบด้วยตึกทรงสี่เหลี่ยม 2 หลังเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียว ช่องว่างตรงกลางออกแบบให้มีความโค้งมนลื่นไหล รอบอาคารประดับด้วยกระจกหนาสะท้อนสภาพโดยรอบจนกลมกลืน พื้นที่ใช้งานจัดสรรให้เป็นโรงแรมหรูอย่าง Me Dubai ส่วนสำนักงาน ร้านอาหาร แบบมิกซ์ยูสอย่างครบครัน ทั้งยังถูกคัดเลือกเป็นสิ่งก่อสร้างยอดเยี่ยม สาขามิกซ์ยูสที่สร้างเสร็จแล้วจาก World Architecture Festival 2019 อีกด้วย
The Wave โดย Lacime architects
สถานที่ เทียนจิน, จีน
อาคารอเนกประสงค์แห่งใหม่ที่สร้างสรรค์ให้เป็นแหล่ง Edutainment ของเมืองที่ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ โรงละครกลางแจ้งและพื้นที่สาธารณะตลอดจนพื้นที่เล่นกลางแจ้งสำหรับเด็ก โดยแต่ละพื้นที่เชื่อมต่อกับชายหาดรอบข้าง การออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจากเกลียวคลื่นซึ่งสังเกตได้อย่างชัดเจนจากผิวและกรอบอาคารที่จัดเรียงด้วยแผ่นอะลูมีเนียมอย่างละเอียดรวมทั้งจังหวะของเกลียวคลื่นที่สมดุลซึ่งยังมีบทบาทช่วยสร้างแสงสะท้อนที่แตกต่างกันตลอดวัน นับเป็นความสำเร็จการใช้เทคโนโลยีทันสมัยจากพาราเมตริกดีไซน์ (parametric design) และเทคโนโลยี BIM ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุด
The Market Hall และ Depot Boijmans Van Beuningen โดย MVDRV
สถานที่ รอตเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์
รอตเตอร์ดัม เมืองที่เคยถูกเรียกว่าหน้ากระดาษที่ว่างเปล่าจากการทิ้งระเบิดกลางใจเมืองช่วงสงครามโลก ตึกยุคใหม่จึงถูกเนรมิตแทนที่ว่างเดิมอย่างเป็นระบบ The Market Hall (De Markthal) ออกแบบโดย MVDRV คืออีกตัวแทนของพื้นที่สาธารณะที่ต้องการแปรสภาพให้เป็นที่พักอาศัยและศูนย์รวมอาหารในแหล่งเดียวกันจนนำไปสู่การออกแบบอาคารที่มีทางเดินในร่มแบบ semi-outdoor รูปทรงเกือกม้าเพื่อทำกิจกรรมได้หลากหลาย เพดานด้านบนยังตกแต่งด้วยภาพอาหารสดและดอกไม้เพื่อดึงดูดความสนใจ
ล่าสุด MVDRV ยังสร้างสรรค์สถานที่จัดเก็บงานศิลปะในนาม Depot Boijmans Van Beuningen ที่มีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2021 ภายใต้การออกแบบที่มีลักษณะคล้ายถ้วยขนาดใหญ่ ปูด้วยแผ่นกระจก ส่วนด้านบนจัดสรรเป็นสวนลอยแบบ rooftop forest โดยความสำคัญของสถานที่ดังกล่าวคือ ทำหน้าที่จัดเก็บและบำรุงรักษางานศิลปะ ซึ่งจะเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้และกลายเป็น "คลังภาพศิลปะแห่งแรกในโลก" พร้อมประสบการณ์รูปแบบใหม่สำหรับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก
Musée Atelier Audemars Piguet โดย BIG – Bjarke Ingels
สถานที่ สวิสเซอร์แลนด์
อาคารพิพิธภัณฑ์ที่สร้างความแตกต่างในมุมมองคิดแบบอ็อกซิโมรอน (Oxymoron) นั่นคือการผนวกสองสิ่งที่มีความหมายในเชิงตรงข้ามกันมาอยู่ด้วยกัน อย่างลักษณะกำแพงหนาที่โค้งและบาง การออกแบบอาคารเสมือนเกลียวประติมากรรมที่ยกมาจากฐานดิน ซึ่งล้อไปกับภูมิประเทศโดยรอบ ตลอดจนสื่อความหมายที่ร่วมสมัยและไร้กาลเวลาไม่ต่างจากแบรนด์นาฬิกาหรู Audemars Piguet ซึ่งประกอบจากศาสตร์และศิลป์ ผ่านทักษะและความละเมียดละไมในการผลิต ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่สื่อสารและรวบรวมเรื่องราวอันน่าสนใจให้กับผู้สนใจต่อไป